แบตเตอรี่รถยกไฟฟ้าและเครื่องชาร์ต

แบตเตอรี่รถยก (Traction Battery) เป็นส่วนประกอบของรถยกที่มีราคาสูงที่สุดในตัวของรถยกไฟฟ้า

แบตเตอรี่รถยกไฟฟ้าและเครื่องชาร์ต

แบตเตอรี่รถยกไฟฟ้า

แบตเตอรี่รถยก (Traction Battery) เป็นส่วนประกอบของรถยกที่มีราคาสูงที่สุดในตัวของรถยกไฟฟ้า และ มีอายุการใช้งานอันจำกัด จะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับคุณภาพของแบตเตอรี่ และการจัดการและบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง

ขนาดและปริมาณของงาน เป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการเลื่อกซื้อขนาดของรถยกไฟฟ้า รวมถึงการเลื่อกซื้อขนาดของแบตเตอรี่และจำนวนของแบตเตอรี่ต่อรถยกหนึ่ง (1) คัน ซึ่งจะต้องมีให้พอดีกับการหมุนเวียนในการชาร์ตและการใช้งาน

แบตเตอรี่จัดเป็นวัสดุที่ใช้สิ้นเปลือง และมีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างจำกัด  ความทนทานหรืออายุการใช้งานของแบตเตอรี่นอกจากคุณภาพของแต่ละยี่ห้อแล้ว อายุของแบตเตอรี่ ยังผันแปรและขึ้นอยู่กับ

  1.  
    • การปฎิบัติและการบำรุงรักษา
    • ความถี่ในการใช้งาน
    • จำนวนแบตเตอรี่ต่อรถยก (1) คัน
    • จำนวนครั้งในการชาร์ตแบตเตอรี่

แบตเตอรี่มีอายุไขจำกัดในการใช้งานในตัวของมันเอง  และจะเสื่อมหรือหมดอายุการใช้งานได้อย่างรวดเร็วถ้าใช้งานและบำรุงรักษาไม่ถูกต้อง  หรือกล่าวได้ในอีกแง่มุมหนึ่งว่า “ปัญหาของแบตเตอรี่จะลดน้อยลง ถ้าปฎิบัติและบำรุงรักษาได้อย่างถูกต้อง”

การปฎิบัติและบำรุงรักษาอย่างไม่ถูกต้องเพียงไม่กี่ครั้งในช่วงเวลาสั้นๆ อาจทำให้อายุการใช้งานต้องสิ้นสุดลงได้ทันที

วิธีปฎิบัติอย่าง “ไม่ถูกต้อง” พอที่จะรวบรวมได้ดังนี้

  1.  ระดับน้ำกลั่น “มาก” หรือ “ต่ำ” กว่าที่กำหนด
  2. เติมน้ำกลั่นมากจน “ล้น”
  3. การใช้งานแบตเตอรี่จนเหลือไฟ “ต่ำกว่าขีดที่กำหนด”
  4. ไม่ตรวจเช็ค “ค่าถ่วงจำเพาะ” (ถพ./S.G.)ของน้ำกรดแบตเตอรี่ (ค่าถ่วงจำเพาะของน้ำกรด หรือความเข้มข้นของน้ำกรดที่เปลี่ยนไป มักมีสาเหตุมาจากข้อ 1 – 3 ข้างต้น)
  5. นำแบตเตอรี่ไปใช้งานทันทีหลังการชาร์ตไฟ โดยไม่รอให้แบตเตอรี่เย็นลง
  6. ชาร์ตไฟไม่เต็มแบตเตอรี่
  7. แบตเตอรี่มีขนาดและกำลังที่น้อยกว่าหรือพอดีกับขนาดและปริมาณของงานมากเกินไป
  8. ปล่อยให้แบตเตอรี่เปียกและสกปรก
  9. ทิ้งแบตเตอรี่ไว้เป็นเวลานานโดยขาดการดูแลรักษา

1. ระดับน้ำกลั่น “มาก” หรือ “ต่ำ” กว่าที่กำหนด

ค่าความถ่วงจำเพาะในแซลแบตเตอรี่จะเปลี่ยนแปลงตามปริมาณของน้ำกลั้นในช่องแบตเตอรี่ ในกรณีที่น้ำกลั่นในช่องแบตเตอรี่ลดน้อยลงจากการ “ระเหย” ของน้ำกลั่น สามารถปรับเรียกความเข้มข้นที่ต้องการกลับคืนมาได้ โดยการเติม “น้ำกลั่น” กลับคืนเข้าไปในระดับที่พอดีกับที่ระเหยออกไป

น้ำกลั่นในระดับปรกติ ควรสามารถใช้งานได้ประมาณสิบสี่ (14) กะของงานก่อนที่จะต้องมีการเติมน้ำกลั้นเพื่อชดเชยกับจำนวนที่ระเหยไป แต่ก็ควรที่จะตรวจเช็คระดับน้ำกลั่นทุกเซลในทุกๆวันก่อนใช้งาน และตรวจเช็คระดับน้ำกลั่นทุกครั้ง ก่อนชาร์ตและหลังชาร์ต

กรณีที่มีน้ำกลั่น “มากเกิน” ไป อาจทำให้ความเข้มข้นของ “กรด” (ถพ./S.G.) มีไม่เพียงพอ ทำให้ประสิทธิภาพต่ำลง นอกเหนือจากนั้น น้ำในส่วนที่มากเกินจะ “กระเซ็น” ออกจากช่องระบายที่ฝาปิดช่องแบตเตอรี เนื่องจาก “ความร้อนและปฎิกิริยาทางเคมี” ที่เกิดขึ้นในระหว่างการใช้งานรถยกไฟฟ้า และน้ำที่ “กระเซ็น” ออกมานี้จะมี “น้ำกรด” ปนตามออกมาด้วย ทำให้ “น้ำกรด” ลดน้อยลงโดยปริยาย และเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้แบตเตอรี่สกปรกและเกิดสนิมตามมา

กรณีที่มีน้ำกลั่น “น้อยเกิน” ไปจะทำความเสียหายให้กับแผ่นธาตุอย่างมากมายจากความร้อนในช่องแบตเตอรี่ที่เกิดขึ้นในระหว่างการใช้งานรถยก มีผลกระทบต่ออายุการใช้งานของแบตเตอรี่อย่างรุนแรง

2. เติมน้ำกลั่นมากจน “ล้น”

การเติมน้ำกลั่นมากจน “ล้น” ทำให้มีปัญหาเช่นเดียวกับการมีระดับน้ำกลั่น “มาก”

เกินไป ปัญหาเริ่มเกิดนับจากน้ำในส่วนที่ “ล้น” ออกมานอกเหนือจากการ “กระเซ็น” ออกมาในระหว่างการใช้งานรถยกไฟฟ้า ทำให้เกิดการกัดกร่อนโลหะที่เปื้อนน้ำกรด และทำให้ค่าของน้ำกรดลดน้อยลง

3. การใช้งานแบตเตอรี่จนเหลือไฟ “ต่ำกว่าขีดที่กำหนด”

ประสิทธิภาพการใช้งานของรถยก ในการ “ยก” และ “เคลื่อนย้าย” สิ่งของจะต่ำลงอย่างชัดเจนเมื่อประสิทธิภาพของแบตเตอรี่เหลื่อเพียง 20% หากยังคงฝืนใช้งานต่อไปทั้งๆที่มีเหตุหรือสัญญานเตือนเช่นนี้ จะเป็นการใช้ไฟแบตเตอรี่เกินพอดี (over discharged) จะทำให้แผ่นธาตุของแบตเตอรี่เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว และหากการใช้งานในลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจทำให้ต้องเปลี่ยนเซลแตเตอรี่ หนึ่งหรือหลายเซลพร้อมๆกัน หรืออาจทำให้อายุของแบตเตอรี่สิ้นสุดลง

หากไม่มีแบตเตอรี่สำรอง และรับรู้ได้ว้าปริมาณไฟที่เหลืออยู่ในแบตเตอรี่ไม่เพียงพอสำหรับงานที่รออยู่ในวันถัดไป ก็มีเหตุผลพอที่จะนำแบตเตอรีไปชาร์ตไฟให้เต็มเพื่อให้มีไฟเพียงพอกับงานที่รออยู่

แบตเตอรี่สำรองจำนวนหนึ่ง (1) ลูก จำเป็นที่จะต้องมีสำหรับการทำงานสอง (2) กะ กล่าวคือ แบตเตอรี่ลูกหนึ่งกำลังใช้งาน ในขณะที่แบตเตอรี่สำรองอีกหนึ่งลูกนั้น อยู่ในระหว่างการชาร์ตไฟให้เต็ม หรืออยู่ในระหว่างคลายความร้อนหลังจากที่ชาร์ตไฟเต็มแล้ว

แบตเตอรี่สำรองจำนวนสอง (2) ลูก จำเป็นที่จะต้องมีสำหรับการทำงานสาม (3) กะ

กล่าวคือ แบตเตอรี่ลูกหนึ่งกำลังใช้งาน ในขณะที่แบตเตอรี่ลูกที่สองอยู่ในระหว่างการคลายความร้อน และแบตเตอรี่ลูกที่สามอยู่ในระหว่างการชาร์ตไฟให้เต็ม

ในกรณีใช้ไฟแบตเตอรี่เกินพอดี (over discharged) หรือใช้ไฟจนหมดหม้อเกิดขึ้น ต้องรีบนำแบตเตอรี่ไปชาร์ตไฟในวันนั้นทันทีภายใน 24 ชั่วโมง โดย“ต้อง”ให้ความร้อนภายในแบตเตอรี่เย็นลงมากที่สุด ก่อนที่จะนำไปชาร์ตไฟ

4. ไม่ตรวจเช็ค “ค่าถ่วงจำเพาะ” (ถพ./S.G.)ของน้ำกรดแบตเตอรี่

ความเข้มข้นหรือค่าของน้ำกรดที่เปลี่ยนไปในช่องแบตเตอรี่ มักมีสาเหตุจากความบกพร่องตามข้อ 1 – 3 โดยมากเกิดจากการที่ “น้ำกรด” ล้นหรือกระเซ็นออกจากช่องของแบตเตอรี่ การตรวจเช็คค่าน้ำกรดที่ถูกต้องควรตรวจเช็คในขณะที่อุณหภูมิในช่องแบตเตอรี่เท่ากับอุณหภูมภายนอกแบตเตอรี่ หรือตรวจเช็คอย่างน้อยภายหลังเสร็จสิ้นการใช้งานหรือ การชาร์ตแบตเตอรี่ ผ่านไปไม่น้อยกว่าสอง (2) ชั่วโมง

หากตรวจเช็คในขณะที่อุณหภูมภายในช่องแบตเตอรี่สูงกว่าภายนอก ค่าที่ตรวจเช็คได้จะสูงกว่าปรกติประมาณ 0.010 – 0.015

5. นำแบตเตอรี่ไปใช้งานทันทีหลังการชาร์ตไฟ โดยไม่รอให้แบตเตอรี่เย็นลง

การชาร์ตแบตเตอรี่ จะทำให้เกิดความร้อนเพิ่มขึ้นในช่องแบตเตอรี่ หากน้ำแบตเตอรี่ไปใช้งานก็เป็นการเพิ่มความร้อนให้กับช่องแบตเตอรี่ ความร้อนที่มากเกินไป เป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้แบตเตอรี่เสื่อมคุณภาพ ดังนั้นจึงควรให้ความร้อนลดลงก่อนที่จะนำไปใช้งาน  สาเหตุที่ไม่รอให้เย็นลงก่อนนั้น มักเกิดจากความเร่งรีบของงาน และด้วยปริมาณของงานที่รออยู่ รวมทั้งจำนวน ขนาดของแบตเตอรี่ หรืออาจเป็นเพราะประสิทธิภาพลดน้อยลงไปตามสภาพและอายุของแบตเตอรี่ หรืออาจเป็นเพราะเครื่องชาร์ตไฟมีขนาดไม่พอดีกัน

การชาร์ตไฟให้เต็มหม้อแบตเตอรี่แต่ละครั้ง จะต้องใช้เวลานานประมาณ 8 – 24 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่และประสิทธิภาพของเครื่องชาร์ตไฟ และการรอให้ความร้อนของแซลในช่องแบตเตอรี่ลดน้อยลงจนเท่ากับอุณภูมภายนอกแบตเตอรี่ อาจต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิรอบข้าง และการถ่ายเทของอากาศ

ดังนั้น ขนาดของแบตเตอรี่ ประสิทธิภาพของเครื่องชาร์ต รวมถึงจำนวนแบตเตอรี่สำรอง ต้องมีให้พอดีและเพียงพอกับการหมุนเวียนในการใช้งานแบตเตอรี่ โดยต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพของรถยก แบตเตอรี่ และ เครื่องชาร์ต ที่จะต้องลดลงตามเวลาที่ผ่านไปด้วย

6. ชาร์ตไฟไม่เต็มแบตเตอรี่

อายุของแบตเตอรี่ส่วนหนึ่งขึ้นกับจำนวนครั้งของการชาร์ตแบตเตอรี่ นอกเหนือจาก

การซ่อมและการบำรุงรักษา โดยทั่วไปแบตเตอรี่สามารถรับการชาร์ตได้ 1,200 / 1,500 ครั้ง ขึ้นอยู่กับคุณภาพของแบตเตอรี่

ดังนั้นการชาร์ตไฟไม่เต็มหม้อไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมลง แต่จะทำให้ได้ “กำลังไฟหรือจำนวนไฟที่ชาร์ตได้” มีไม่พอดีกับปริมาณของงานในช่วงต่อไป ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องมีการชาร์ตไฟบ่อยครั้งขึ้น

โอกาสของกระแสไฟในหม้อแบตเตอรี่ต้องหมดลงก่อนที่งานจะแล้วเสร็จจะมี “มากขึ้น” และทำให้มีการใช้งานในลักษณะ “ฝื่นใช้” หรือ “ดันทุรัง” ใช้งานต่อไปเพื่อให้งานแล้วเสร็จลงมีมากขึ้น ซึ่งเข้าข่ายการใช้งาน “เกินพอดี” หรือ ใช้ไฟจนเหลือไฟน้อยกว่าขีดที่กำหนด หรือ over discharged เกิดขี้นบ่อยครั้ง

7. แบตเตอรี่มีขนาดและกำลังที่น้อยกว่าหรือพอดีกับขนาดและปริมาณของงานมากเกินไป

แบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบของรถยกที่มีราคาแพง และเสื่อมลงตลอดเวลาโดยที่เราเองแทบจะไม่รู้สึก และจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นหากมีข้อผิดพลาดอื่นเสริมเพิ่มเข้ามา

ประสิทธิภาพที่เสื่อมลงเพียงเล็กน้อย อาจเป็นเหตุให้ไม่สมดุลย์กับขนาดของงานที่มีอยู่หากแบตเตอรี่มีขนาดพอดีมากเกินไปกับขนาดของงาน

โดยปรกติ ผู้ผลิตจะกำหนดและแนะนำ ขั้นต่ำของขนาดแบตเตอรี่ (Ah) ที่ควรใช้ และมีทางเลือกสำหรับขนาด (Ah) ที่เพิ่มมากขึ้นภายใต้ข้อจำกัดของขนาดถังของแบตเตอรี่ ดังนั้นจึงมีเหตุอันควรที่จะพิจารณาเลือกซื้อขนาดของแบตเตอรี่ที่ใหญ่กว่า รวมถึงการที่จะต้องมีแบตเตอรี่สำรองเพิ่มขี้นด้วย

8. ปล่อยให้แบตเตอรี่เปียกและสกปรก

ถังบรรจุแบตเตอรี่ ขั้วแบตเตอรี่ และทุกส่วนของแบตเตอรี่ จะต้องแห้งและสะอาด ความเปียกชื้น เปอะเปื้อน ขี้เกลือ เป็นต้นเหตุอันสำคัญยิ่งที่บั่นทอนความใส่ใจในการบำรุงรักษา

ที่ร้ายแรงกว่านั้น สิ่งเปอะเปื้อนดังกล่าวมีโอกาสอย่างสูงที่จะปนเปื้อนเช้าไปในเซลแบตเตอรี่ ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพ ทำให้เกิดการลัดวงจร บั่นทอนสุขภาพและอายุการใช้งานของแบตเตอรี่โดยตรง

9. ทิ้งแบตเตอรี่ไว้เป็นเวลานานโดยขาดการดูแลรักษา

การเก็บแบตเตอรี่โดยมีเป้าหมายที่จะไม่นำมาใช้งานเป็นเวลานานนั้น ก่อนที่จะนำไปเก็บนั้นต้องตรวจเช็ค ปรับความเข้มข้นของน้ำกรดและชาร์ตไฟให้เต็มทุกช่อง และต้องทำการเช็คและชาร์ตไฟให้กับแบตเตอรี่ทุกๆเดือน

สถานที่เก็บแบตเตอรี่ต้องมีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ร้อน ไม่เปียกชื้น แห้งสะอาด ไม่มีฝุ่นละออง ไม่ตากแดด ไม่มีละอองฝน และตัวแบตเตอรี่ก็ต้องแห้งและสะอาดด้วย

ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นการแบตเตอรี่ในวิธีการใช้ และ บำรุงรักษา จะไม่แสดงผลให้รู้เห็นทันทีในขณะนั้น ต่อเมื่อได้รับรู้ว่ากำลังของแบตเตอรี่ลดน้อยลง ก็เป็นช่วงเวลาที่ใกล้จะต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่

 

การชาร์ตแบตเตอรี่

การกำหนดแผนงานการชาร์ตแบตเตอรี่ต้องเตรียมไว้ล่วงหน้า เพื่อให้แบตเตอรี่พร้อมใช้เงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเพียงกะเดียว หรือหลายกะงานก็ตาม

ก่อนชาร์ตแบตเตอรี่ ต้องตรวจเช็คระดับความเข้มข้นของน้ำกรดและปรับระดับน้ำกลั่น แม้ว่าความจำเป็นในการปรับระดับนั้นอาจมีเพียงครั้งเดียวหลังผ่านการใช้งานประมาณ 10 - 14 รอบของการชาร์ตไฟ

ก่อนชาร์ตแบตเตอรี่ และหลังการชาร์ตแบเตอรี่จนเต็มหม้อแล้ว ต้องให้ความร้อนคลายตัวออกก่อนจนเหลือ่ความร้อนเท่ากับอุณหภูมิภายนอกเซลแบตเตอรี่ หากมีเวลามากพอ แต่ไม่ควรน้อยกว่า 2 ชั่วโมงทั้งก่อนชาร์ตและหลังชาร์ต

ในกรณีที่แบตเตอรี่ถูกใช้งานจนเหลือไฟในหม้อแบตเตอรี่น้อยกว่าระดับที่กำหนดไว้ หรือใช้ไฟ “เกินพอดี” (over discharged) หรือที่มักเรียกขานกันว่า “ไฟหมดหม้อ” ในกรณีนี้ต้องชาร์ตแบตเตอรี่ทั้นทีหลังจากคลายความร้อนเรียบร้อยแล้ว แต่การชาร์ตต้องไม่รอข้ามวัน

งานชาร์ตแบตเตอรี พอทั่จะสรุปเป็นหัวข้อดังนี้

  • ให้มีเครื่องชาร์ตหนึ่งตัวต่อรถยกหนึ่งคัน
  • ไม่สวมแหวน นาฬิการ สายสร้อยกำไลในระหว่างทำงาน
  • ห้ามสูบบุหรี่ หรือ ให้มีประกายไฟเกิดขึ้นใกล้แบตเตอรี่ และ สถานที่ชาร์ตและเก็บแบตเตอรี่
  • ควรชาร์ตแบตเตอรี่หลังการใช้งานจนไฟเหลือในระดับต่ำสุดทุกครั้ง (ถ้ามีแบตเตอรี่สำรอง)
  • ควรชาร์ตแบตเตอรี่แม้ว่ายังมีไฟเหลืออยู่ในแบตเตอรี่ (ถ้าไม่มีแบตเตอรี่สำรอง) หากรู้ได้ว่ากำลังไฟที่เหลืออยู่นั้น ไม่เพียงพอกับปริมาณของงานที่กำลังจะเข้ามา เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้งานแบตเตอรี่ในลักษระดันทุรังใช้ต่อไฟเพื่อให้งานแล้วเสร็จ ซึ่งจะเป็นการใช้งานแบตเตอรี่ในระดับเกินพอดี.
  • ไม่จำเป็นที่จะต้องชาร์ตแบตเตอรี่ หากรู้ว่าไม่มีงานในวันถัดไป ถ้าระดับความเข้มข้นของน้ำกรด (ถพ./S.G.) ยังอยู่ในระดับ 1.220 หรือสูงกว่า
  • ระดับน้ำกลั่นต้องสูงกว่าความสูงของแผ่นธาตุเพียงเล็กน้อยก็พอ เพื่อหลีกเลี่ยงการ “กระเซ็น” ของน้ำกลั่นในระหว่างการชาร์ตหรือใช้งานแบตเตอรี่ เพราะน้ำกลั่นที่กระเซ็นออกมานั้น จะมี “น้ำกรด” ผสมตามมาอยู่ด้วย ชึ่งจะเป็นเหตุให้ความเข้มข้นของน้ำกรดเปลี่ยนไป นอกเหนือจาก สนิม และ ความสกปรก
  • บันทึกค่าของน้ำกรด และ กำลังดันของกระแสไฟ ก่อนและหลังการชาร์ตไฟ
  • ก่อนชาร์ต ค่าน้ำกรดไม่ควรต่ำกว่า 1.140
  • ในระหว่างการชาร์ต อุณหภูมิในช่องเซลต้องไม่เกิน 50 องศาเซลเซียส
  • เพื่อช่วยในการระบายความร้อน ฝาครอบแบตเตอรี่ (ถ้ามี) ต้องเปิดกว้างให้เต็มที่ แต่ฝาปิดช่องเซลแบตเตอรี่ต้องปิดไว้เสมอ เพื่อป้องกันการกระเซ็นของน้ำกรดในระหว่างการชาร์ต
  • หากมีความแตกต่างเกินควรของค่าน้ำกรดในบางเซลของแบตเตอรี่ ก็ควรที่จะใช้ระบบการชาร์ตต่อเนื่องออกไป (equalizing) เพื่อให้ค่าน้ำกรดในทุกเซลใกล้เคียงกันมากที่สุด (แต่ความร้อนในช่องเซล ต้องไม่เกิน 50 องศาเซลเซียส)
  • ต้องให้แบตเตอรี่คลายความร้อนลง (มากที่สุด) ก่อนที่จะนำแบตเตอรี่ไปใช้งาน

Our partnerships

Our long-term relationships with industry-leading companies deliver high-value products & services to our customers.